Rewind…เดินถอยหลัง
by: Sahnfun
(โปรดิวเซอร์ | ประพันธ์เนื้อร้อง | ประพันธ์ทำนอง | ขับร้องบทเพลง)
Rewind
( สำหรับใครที่ไม่อยากอ่านเรื่องปรัชญาสามารถข้ามบท สีเทา ไปได้เลยค่ะ )
เดินถอยหลัง...กริยาของการขยับร่างกายย้อนสอนจากกริยาปกติที่จะนำพาร่างกายเคลื่อนไหวไปข้างหน้า
คำถาม:
…‘แล้วถ้าเราเดินถอยหลังไปข้างหน้าละ จะยังเรียกเดินถอยหลังได้อยู่หรือเปล่า ?
หรือแท้จริงแล้วเส้นทางที่เรียกว่าข้างหน้า ไม่ได้มีอยู่จริง ’...
เพลง Rewind ตั้งคำถามบนทฤษฎีทางปรัชญาที่ชื่อ Eternalism (หรือ The Block Universe) ที่กล่าวไว้ว่า เวลานั้นขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล (time is in the eyes of the beholder): แท้จริงแล้วเวลาไม่ได้กำลังเคลื่อนผ่านเราไป ในเมื่ออดีต ปัจจุบัน และอนาคตกำลังเกิดขึ้นพร้อมๆกัน ...เพียงแต่เราไม่รู้ก็เท่านั้นเอง
ทฤษฎี Eternalism เกิดขึ้นมาจากการถกเถียงทางปรัชญาถึงที่มาของจักรวาล
เหล่านักปราชญ์ต่างเชื่อว่าจักรวาลต้องเกิดขึ้นมาจาก
‘อะไรสักอย่าง’ (something)
หรือไม่ก็
‘ความว่างเปล่า’ (nothing)
แต่ปัญหาก็คือนักปราชญ์เหล่านี้กลับไม่สามารถนิยามได้ว่าสรุปแล้วจักรวาลนั้นถือกำเนิดมาจาก ‘อะไรสักอย่าง’ หรือ ‘ความว่างเปล่า’
ทำไมนะหรือ?
ก็เพราะว่า ถ้าพวกเขาบอกว่าจักรวาลเกิดมาจาก ‘อะไรสักอย่าง’ นั่นก็หมายความว่า ‘อะไรสักอย่าง’ นี้ต้องมีมาอยู่ก่อนแล้ว แต่มันจะมีมาอยู่ก่อนแล้วได้ยังไงในเมื่อไม่มีอะไรก่อให้มันเกิด หรือจะบอกว่ามันมีมาอยู่ก่อนแล้วตราบชั่วกัลปาวสาน? (Eternal) แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็ต้องใช้เวลาตราบชั่วนิรันดรเพื่อเดินทางมาถึงจุดที่จักรวาลถูกก่อให้กำเนิด (ซึ่ง ก็หมายความว่ามันไม่มีวันมาถึงจุดนั้นนั่นแหละ)
โอเค ถ้าจักวาลไม่ได้เกิดขึ้นมาจาก ‘อะไรสักอย่าง’ งั้นมันเกิดขึ้นมาจาก ‘ความว่างเปล่า’ เช่นนั้นหรือ?
แต่จะเป็นไปได้ยังไง ในเมื่อความว่างเปล่าไม่สามารถก่อให้เกิดอะไรขึ้นมาได้
…ความว่างเปล่าสร้างได้แต่เพียงความว่างเปล่าเท่านั้น…
ปัญหาโลกแตกนี้เป็นที่มาของทฤษฎี Eternalism ที่กล่าวว่าจักรวาลนั้นเปรียบเสมือนก้อนน้ำแข็ง (block universe) ที่มีมาแต่ช้านานแล้ว จุดเริ่มต้นของจักรวาลไม่ได้มาจาก ‘ความว่างเปล่า’ แต่การที่มันมาจาก ‘อะไรสักอย่าง’ ก็ไม่ได้หมายความว่าอะไรสักอย่างนี้จะไม่มีวันเดินทางมาถึงจุดกำเนิดของจักรวาล ในเมื่อจักรวาลนี้มีตัวตนอยู่จริงมาตราบชั่วนิรันดรแล้วเช่นกัน
งงใช่ไหม? เอาเป็นว่า ถ้าจะให้อธิบายทฤษฎีนี้แบบเจาะลึก วันนี้เราคงไม่ได้พูดถึงเพลง Rewind กัน เพราะฉะนั้นสานฝันจะขออธิบายแบบฉบับสั้นๆให้คุณผู้อ่านแล้วกันนะคะ
คำอธิบายที่ง่ายที่สุดคือ : ให้เปรียบคนเราเหมือนตัวละครในหนังสือเล่มหนึ่ง ตัวละครตัวนี้เดินทางผ่านเหตุการณ์มากมายตั้งแต่หน้าแรกจวบจนหน้าสุดท้ายของหนังสือ ดังนั้นถ้าเราเป็นตัวละครตัวนี้ เราก็จะได้สัมผัสกับเวลาที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆตามเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่ทว่านี่เป็นเพียงแค่มุมมองของตัวละครตัวนี้ก็เท่านั้น เพราะแท้จริงแล้ว ถ้าเราไม่ใช่ตัวละครที่อยู่ในหนังสือ แต่เป็นคนที่กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ ทุกเรื่องที่ตัวละครตัวนี้สัมผัสตั้งแต่หน้าแรกจวบจนหน้าสุดท้าย มันอยู่ตรงนั้นพร้อมๆกันในหนังสือตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ได้ผ่านไปแล้ว หรือ กำลังจะเกิดขึ้น ทุกเหตุการณ์เป็นความจริงและเป็นปัจจุบันอยู่ในหน้ากระดาษอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะพลิกดูหน้าไหนก่อนก็เท่านั้น...
ถ้ายังงงอยู่ให้มองอย่างนี้ ในโลกแห่งความเป็นจริง อดีตสำหรับเรา คือ อนาคตสำหรับใครบางคน ยกตัวอย่างง่ายๆ: วินาทีที่แล้ว (ซึ่งเป็นอดีตของเรา) คือ อนาคตของเด็กคนหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้น ณ วินาทีนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว อดีต หรือ อนาคต ไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเพียงแค่นิยามที่เราแต่งขึ้นเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรือ อนาคต ก็ล้วนขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนทั้งสิ้น
แต่ถ้าความต่างระหว่างอดีตและปัจจุบันนั้นขึ้นอยู่กับมุมมองของตัวเราเองจริงๆ ถ้าเช่นนั้นแล้วเราเดินถอยหลังทุกวัน หมุนทวนเข็มนาฬิกา กาปฏิฐินย้อนหลัง กลับตาลปัตรทุกอย่างให้ถอยหลังหมด
…’ เราจะสามารถเปลี่ยนอตีดให้กลับกลายมาเป็นปัจจุบันอีกครั้งได้ไหม? ’...
การตั้งชื่อเพลงว่า Rewind ไม่เพียงแต่จะสะท้อนถึงการกรอเทปกลับไปยังจุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการหมุนทวนเข็มนาฬิกาเพื่อเปลี่ยนอดีตให้กลายมาเป็นปัจจุบันตามทฤษฎี Eternalism อีกด้วย นอกเหนือไปจากนั้นแล้วชื่อ Rewind ยังมาจากอีกหนึ่งทฤษฎีที่ชื่อ The Rewind Technique ซึ่งเป็นเทคนิค ทางจิตวิทยา ใช้เพื่อช่วยเยียวยาผู้ป่วยที่มีอาการบอบช้ำทางจิตใจ หรือเพื่อรักษาความกลัว (phobias)
โดยเทคนิค Rewind นี้ หลักๆจะให้ผู้ป่วยจินตนาการว่าได้อยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดและกำลังมองดูตนเอง นั้งดูหนังเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดอาการบอบช้ำทางจิตใจตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปยังจุดจบที่ปลอดภัย โดยทุกครั้งที่จินตนาการซ้ำไปซ้ำมา ผู้ป่วยจะสามารถควบคุมความเร็วของหนังผ่านรีโมทในจินตนาการได้ สุดท้ายแล้วถ้าการรักษาประสบความสำเร็จ หนังม้วนนี้จะไม่สร้างความรู้สึกหรือผลกระทบใดๆต่อผู้ป่วยอีกต่อไป
ดังนั้นความตั้งใจของการตั้งชื่อเพลงว่า Rewind จึงเปรียบเสมือนความตั้งใจที่จะพาคุณผู้ฟัง
‘เดินถอยหลัง’ ไปพร้อมๆกับตัวละคร ที่กำลังถูกรักษาด้วย The Rewind Technique …ท่ามกลางความหวังว่าการที่ได้กรอหนังกลับซ้ำๆเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความบอบช้ำ จะทำให้เขาหลุดพ้นและสามารถก้าวเดินต่อไปได้สักที…
คำตอบที่เพลง Rewind มีให้แก่คำถามในตอนต้นจึงเป็น:
…’ บางทีแล้ว เราอาจจะไม่รู้หรอกว่าเส้นทางไหนคือทางเดินไปข้างหน้า
ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่บางทีหนทางสู่การเดินไปข้างหน้าคือการ
...เดินถอยหลัง...นั่นเอง ’...
MV : https://www.youtube.com/watch?v=X8g2Ahs5b5s
Theme: If a Heart is a Clock
เรื่องย่อ:
หลังจากตกอยู่ในช่วงเวลาอันโหดร้ายจากการจากไปของ B มายาวนาน A จึงตัดสินใจเข้ารับการรักษาทางจิตวิทยาด้วย The Rewind Technique โดยมีความหวังว่าการรักษานี้จะช่วยทำ ให้ภาพความทรงจำในอดีต (ตอนที่เคยมี B) ไม่สร้างความรู้สึกใดๆแก่เธออีกต่อไป
…เธอต้องการจะลืมทุกความรู้สึก ทั้งดีและร้าย
เพื่อก้าวเดินต่อไปข้างหน้า…
การรักษาดูจะดำเนินไปได้ด้วยดีเมื่อภาพความทรงจำต่างๆค่อยๆถูกลบทิ้งไปทีละภาพ…ทีละภาพ...พร้อมๆกับ A ที่เริ่มไร้ความรู้สึกลงไปทุกที
ทว่า ในขณะที่ทุกอย่างดูเหมือนจะจบลงในทิศทางที่ A ตั้งใจไว้... นาฬิกากลับเริ่มหมุนทวนเข็มอย่างรวดเร็ว, ปฏิทินสบัดพลิกย้อนกลับ, ทุกอย่างถูก rewind ถอยหลังกลับหมด พร้อมๆกับภาพความทรงจำต่างๆที่เพิ่งถูก ลบทิ้ง ที่ไหลพร่างพรูกลับมาอีกครั้ง
--- เธอยังไม่พร้อมที่จะปล่อยทุกอย่างไป ---
A ลืมตาตื่นขึ้นจากการรักษา ท่ามกลางความผิดหวังของคุณหมอ ที่จรดปากกาลงบนกระดาษเป็นคำว่า..
“Procedure Failed.”